วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559

ท่องเที่ยวจังหวัดน่าน

แอ่วเมืองน่าน 

“ ผมไม่เคยไปเมืองน่าน ”
ไม่เคยไปจริงๆครับ ขับรถเฉียดไปเฉียดมาอยู่ 2-3 ครั้งแต่ก็ไม่เคยแวะเข้าเขตเมืองน่านกันสักที หลายครั้งที่อยากไปเห็นหน้าตาเมืองน่าน หรือเพียงแค่ขับผ่านตัวจังหวัดก็ยังดี แต่ก็อีกนั่นแหละมันหาเหตุเข้าเมืองน่านไม่ได้สักที เหมือนกับว่าดวงไม่ค่อยสมพงษ์กัน

ครั้งล่าสุดที่ผมเดินทางไปภาคเหนือโดยรถส่วนตัวในเทศกาลสงกรานต์เมื่อเดือน เมษายน 2548 ที่ผ่านมา จึงตั้งใจว่าตอนขากลับจะมานอนที่น่านสักคืนก่อนเดินทางเข้ากรุงเทพ
มาเที่ยวเมืองน่านคราวนี้ก็ไม่ได้ตั้งใจไปเที่ยวที่ไหน เพราะมีเวลาน้อย อยากมาชิมลางมากกว่า หลังจากสอบถามคร่าวๆจากญาติที่เคยมาเที่ยวถึงเส้นทาง ที่พัก และสถานท่องเที่ยวในตัวเมือง จากนั้นก็ออกเดินทาง
เริ่มต้นที่ลำปาง (แวะถ่ายภาพสถานีรถไฟก่อน) จากนั้นเข้าเมืองแพร่ โดยแวะนมัสการวัดพระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นวัดคู่เมืองแพร่ออกจากวัดก็เดินทางต่อมายัง จ.น่าน ตามทางหลวงหมายเลข 101

                       


" เมืองน่าน"
เรื่องราวส่วนใหญ่ที่รู้ๆมาก็เป็นเรื่องที่จดจำมาแต่อดีต อาจนานมาแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในความทรงจำ เช่น น่าน เป็นจังหวัดเล็กๆ เป็นเมืองไม้สัก การเดินทางต้องข้ามเขาที่มีป่าไม้หนาแน่นตลอดสองข้างทาง มีพื้นที่ติดชายแดนประเทศลาว ตามแนวชายแดนก็ประกอบไปด้วยชาวเขาหลายเผ่า ซึ่งอดีตก็เคยเป็นหอกข้างแคร่ของรัฐบาล ที่ถูกชักนำให้หันมาฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ ชายแดนน่านรวมทั้งพื้นที่บนเขา จึงกลายเป็นแดนก่อการร้าย มีการสู้รบรุนแรง และถูกจัดให้เป็นพื้นที่สีแดง
น่าน หากนับถอยหลังไปในช่วงระหว่างปี 2510 – 2524 จะมีแต่ข่าวการสู้รบกันเป็นประจำจนดูเหมือนจะกลบภาพลักษณ์ที่ดีๆของเมืองน่านไปจนหมดสิ้น บางจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงเมืองน่านเช่นจังหวัดแพร่ ลำปาง เชียงราย ก็หวั่นวิตกว่าหากทหารปราบไม่อยู่ แน่นอนว่าเมืองแพร่และจังหวัดอื่นๆที่อยู่ถัดๆมาคงต้องรับศึกหนัก

น่านจึงเหมือน เป็นเมืองหน้าด่าน ทำหน้าที่เป็นกำแพงไม่ให้ฝ่ายผู้ก่อการร้ายล่วงล้ำอธิปไตย ซึ่งขณะนั้นประเทศต่างๆที่อยู่ใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น เวียดนาม พม่า ลาวกัมพูชา ก็กลายเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ไปหมดแล้ว
ในช่วงเวลาที่เนินนานถึง 14 ปี จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมือนเมืองน่านต้องถูกปิดประตชั่วคราว ถนนหลายสายระหว่างอำเภอต่างๆในจังหวัดน่านไม่ค่อยปลอดภัยนัก หากไม่จำเป็นก็จะไม่มีใครกล้าผ่าน ไม่ต่างกับเส้นทางระหว่าง พิษณุโลก – เพชรบูรณ์หรือในพื้นที่ในเขต อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ที่บริเวณนั้นถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดง มีการปะทะกันไม่เว้นแต่ละวัน ผู้สัญจรผ่านเส้นทางนั้นอาจโดนลูกหลงจากการต่อสู้ ในยามค่ำคืนแล้วก็จะกลายเป็นถนนร้างที่ไร้ยวดยาน
” ยุทธการทุ่งช้าง ”
เทือกเขาตามแนวชายแดนน่าน เป็นยุทธภูมิที่เหมาะสำหรับเป็นฐานตั้งมั่นด้านการรบ ซึ่งฝ่ายตรงข้ามพยายามยึดชัยภูมิสำคัญให้ได้ มีการปะทะและนองเลือดกันทั้งสองฝ่าย จนมาถึงแผนการรบที่มีชื่อว่า “ ยุทธการทุ่งช้าง “ ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นแผนการรบขั้นเด็ดขาด มีสมรภูมิรบอยู่ในพื้นที่ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน และน่าจะเป็นการรบที่เอาชนะผู้ก่อการร้ายได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ในยุคที่มีพลเอกเปรม ติณสุลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี ตามนโยบายของรัฐบาลที่ 66/23 ที่มีการนำแผนนี้ไปใช้ในทุกพื้นที่ของประเทศรวมทั้งที่สมรภูมิเขาค้อด้วย
ร้อยกว่านายที่ทหารไทยและพลเรือนได้เสียชีวิตในยุทธการทุ่งช้าง และจากเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2510 จนเสร็จสิ้นสงครามการสู้รบในปี 2524 ฝ่ายรัฐบาลโดยทหาร ตำรวจ และพลเรือน เสียชีวิตไปทั้งสิ้นถึง 628 นาย
อนุสรณ์สถานของบรรดาผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ อยู่ที่ อ.ทุ่งช้าง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบัน มีชื่อว่า "อนุสรณ์วีรกรรม" สร้างไว้เป็นเครื่องเตือนใจให้คนรุ่นหลังได้ทราบความเป็นไปในช่วงเวลานั้น ที่ไทยต้องต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายจากภายนอก และผู้ก่อการร้ายคนไทยที่ถูกชักจุงให้หลงผิด
ในที่สุดการแผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ประสบความล้มเหลว และปราชัยไปในที่สุด เป็นการสิ้นสุดของสงครามเย็น ที่มีผู้คนล้มตายไปหลายสิบล้านคน เฉพาะที่ประเทศจีน กล่าวกันกว่าสูงถึง 40 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตเพราะความอดหยาก
จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้เป็นระบอบสังคมนิยม โดยมีนายพลเหม๋าเจ่อตุงเป็นผู้นำประเทศ ซึ่งในช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของประเทศที่ปกครองในระบอบทุนนิยม
ทั้งหมดที่เขียนเล่ามานี้ก็เพื่อให้หลายๆคนได้ตระหนักถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมืองน่านไม่เติบโตเท่าที่ควรเหมือนเช่นจังหวัดอื่นๆทางภาคเหนือ เพราะสิบกว่าปีที่น่านต้องตกอยู่ในภาวะสงครามสู้รบไม่มีใครอยากเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงอันตราย

แม้ผู้คนเมืองน่านอาจเห็นว่าไม่มีอะไรรุนแรง แต่ข่าวการสู้รบที่มีอย่างต่อเนื่องจึงไม่อาจปฏิเสธได้ เช่นเดียวกับ 3 จังหวัดภาคใต้ในปัจจุบัน ที่คนท้องถิ่นเองบอกว่ามันรุนแรงเป็นบางจุด แต่เหตุการณ์ที่เป็นข่าวทำให้เข้าใจว่ามันกระจายไปทั่วทั้งพื้นที่

เหตุการณ์ภาคใต้ขณะนี้ น่าจะบอกได้ค่อนข้างแน่นอนว่า ยะลา ปัตตานี และนราธิวาสกำลังจะกลายเป็นจังหวัดที่เติบโตช้ากว่าจังหวัดอื่นๆในภาคใต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีใครกล้าไปลงทุนทำธุรกิจ ไม่มีใครกล้าไปเที่ยว และที่สำคัญกว่านั้นคนในพื้นที่เองต่างก็หาทางอพยพออกจากพื้นที่เพราะเกรงว่าไม่ปลอดภัย
เมษายน 2548 ผมตั้งใจจะไปเที่ยวเมืองน่าน เพียง อยากไปเห็นว่าบ้านเมืองเป็นอย่างไรบ้าง แม้จะได้ยินมาว่าไม่ต่างกับจังหวัดแพร่ที่มีเขตติดต่อกันเท่าใดนัก
เส้นทางจากแพร่สู่น่าน เป็นเส้นทางที่ต้องผ่านป่าเขา โดยเฉพาะป่าสักนั้นมีพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง และพื้นที่ส่วนหนึ่งนั้นอาจต้องสูญไป อันเนื่องจากโครงการสร้าง เขื่อนแก่งเสือเต้น ที่เราเคยได้ยินคุ้นหูกันมาเป็นเวลานาน โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ ปี 2514 ในยุคถนอม - ประภาส

ฝ่ายจะสร้างกับฝ่ายต่อต้านยังทะเลาะกันไม่จบ และยังสรุปไม่ได้ว่าจะเอาอย่างไร 

หากมีการสร้างกันจริงก็ต้องถือว่าเป็นโปรเจค 7 ชั่วโคตร ที่เมืองไทยต้องจากจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ต่อจากการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิหรือสนามบินหนองงูเห่าเดิม
ผมขับรถถึงเมืองน่านราว 4 โมงเย็นของวันที่ 18 เมษายน 2548 หลังจากที่ผ่านป่าเขามาไกลพอสมควร เห็นป่าสักเต็มตาตลอดสองข้างทาง นับว่าเป็นเส้นทางที่สวยงามเส้นทางหนึ่งของภาคเหนือ

ทางหลวงหมายเลข 101 ราบเรียบไม่มีร่องรอยปะผุให้น่ารำคาญทำให้การขับรถบนถนนสายนี้ค่อนข้างปลอดภัย ตลอดระยะทางมีรถใหม่ป้ายแดงวิ่งฉวัดเฉวียนไปบนเขาอย่างน่าเป็นห่วงว่าจะพลิกตีลังกาลงข้างทาง โดยเฉพาะเก๋ง TOYOTA VIOS ต้องบอกว่าเป็นรถใหม่ยอดนิยมที่พบเห็นมากที่สุดบนถนนสายนี้
" ปางไม้ "
ผมจอดรถเพื่อลงมาถ่ายภาพในระหว่างทางบนเขาหลังเข้าเขตน่าน ตรงที่เห็นกองไม้สักมากมายริมทาง ที่เรียกว่า “ ปางไม้ ”

ปาง หรือปางไม้ คำนี้หลายคนอาจไม่เคยได้ยิน จริงๆแล้วเป็นคำที่เรียกพื้นที่บริเวณที่เก็บกองไม้สักที่ตัดออกมาจากป่าซึ่งส่วนใหญ่จะพบเห็นในพื้นของภาคเหนือ หรือเขตที่ได้รับสัมปทาน

ปางไม้ในอดีต ไม่ต่างกับคำว่าแค๊มป์ หรือ siteงานก่อสร้าง เป็นชุมชนย่อยๆของคนงานและฝูงช้างที่ใช้งานชักลาก รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือตัดไม้

ในอดีตปางไม้มักเป็นเขตอิทธิพลของผู้รับสัมปทาน ไม่ต่างกับเจ้าพ่อในปัจจุบัน

และเป็นที่รู้กันว่าผู้รับสัมปทานส่วนใหญ่จะตัดไม้มากกว่าพื้นที่ที่กำหนด เช่นสัมปทาน 10 แปลง ก็อาจตัดไม้เลยไปถึง 20 แปลง อะไรทำนองนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ป่าถูกทำลาย

ผมจอดรถถ่ายภาพปางไม้ ไว้ 3 -4 ภาพ เพราะคิดว่าภาพแบบนี้คงหาดูยาก ที่นี่อาจไม่ไช่ปางไม้ใหญ่โตเหมือนอดีต ส่วนใหญ่เป็นไม้สักท่อนขนาดกลางๆ และเป็นไม้สักจากป่าที่มีการปลูกทดแทน

ปัจจุบันจะหาไม้สักขนาดคน 2 -3 คนโอบคงหาไม่ได้แล้ว จะหาได้ก็โน่นแน่ะครับ ประเทศพม่า ที่พ่อค้าไม้ชาวไทยเข้าไปหากินในแถบนั้น ก็ต้องเสี่ยงกันพอสมควร เพราะพื้นที่สัมปทานอยู่ในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อย หากชนกลุ่มน้อยกับทหารรัฐบาลพม่ารบกันเมื่อไหร่ ก็อาจมีปัญหาห้ามและระงับการเคลื่อนย้ายไม้ออกนอกประเทศ

ครั้นพอเคลื่อนย้ายเข้าประเทศไทยได้ ก็เอามาสวมรอยกับไม้ที่แอบลักลอบตัดที่เมืองไทย คือตัดไม้ที่พม่าถูกกฏหมายพม่า แต่พอมาถึงชายแดนไทยก็ขนไม้ที่ลักลอบตัดเมืองไทยพ่วงไปกับการเคลื่อนย้ายไม้ที่นำมาจากพม่า ทำหลักฐานเท็จ ทำหลักฐานปลอมตบตาเจ้าหน้าที่ว่าเป็นไม้ที่รับสัมปทานมาจากพม่า

ก็เป็นแบบนี้แหละสำหรับพวกหน้าด้านกอบโกย เขียนมากก็คันมือ พูดมากก็คันปาก อยากสาปแช่งคนพวกนี้ไม่ให้ผุดให้เกิด
ผมขับรถมาถึงเมืองน่านก็เย็นแล้ว น่าจะราวสี่โมงกว่าๆ หลังจากที่ขับรถวนหาโรงแรมกันพักใหญ่ก็มาลงตัวที่โรงแรมเทวราช หาง่ายหน่อยเพราะอยู่กลางเมือง อีกอย่างก็ไม่มีสิทธิ์เลือกมากนัก เพราะมีอยู่เพียงแค่ 3 -4 แห่งเท่านั้นเอง
พักผ่อนนอนเล่นๆที่โรงแรมได้สักงีบ ก็อาบน้ำอาบท่าก็ออกมาหาข้าวมื้อเย็นทาน
เจ้าหน้าที่โรงแรมชี้ทางไปตลาดโต้รุ่ง บอกไม่ไกลนัก พอเดินไปถึงสี่แยกให้เลี้ยวขวา ผมเดินไปตามทางที่บอก เห็นร้านอาหารอยู่ไม่กี่ร้านก็ชักลังเลใจ ออกจะมีร้านรวงค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นที่ส่วนใหญ่พอตกกลางค่ำกลางคืนจะสว่างไสวและคึกคักไปด้วยผู้คน

แต่ที่เมืองน่านดูจะผิดคาด มีอยู่ประมาณ 6-7 ร้าน เลยชักไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่โรงแรมบอกถูกหรือเปล่า คิดจะไปที่อื่นอยู่เหมือนกัน แต่นึกถึงคำพูดเจ้าหน้าที่โรงแรมบอกว่า " มีที่นี่ที่เดียว " จึงล้มเลิกความตั้งใจ

มาคิดอีกทีว่า จังหวัดน่านเป็นจังหวัดเล็กๆ จะคิดคาดการณ์เหมือนจังหวัดอื่นๆคงไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งที่นี่เป็นเมืองสงบ พอค่ำลงก็จะดูเงียบๆ แค่ทุ่มเศษร้านค้าในเมืองก็ปิดกันไปหลายร้านแล้ว เดินไปเดินมาคนค่อยๆน้อยลงๆ ดูก็แปลกดี ใครชอบบรรยากาศแบบนี้คงไม่ผิดหวัง
ตกลงว่าผมมานั่งกินขนมจีนน้ำเงี้ยวที่ดูแล้วบรรยากาศเข้าท่า และแปลกกว่าร้านอื่นๆ
เป็นร้านอาหารเมืองเหนือเล็กๆริมทางเท้า จัดบรรยากาศแบบแสงเทียน ปูเสื่อบนพื้นซีเมนต์ มีชุดขันโต๊กวางอยู่ ข้างๆก็มีคนโฑดินเผาใส่น้ำ แทนเหยือกน้ำพลาสติก (ภาคเหนือเรียกน้ำต้น)

ปรากฏว่าครอบครัวที่มาด้วยกันบอกว่าบรรยากาศดูดี แปลก อยากจะนั่ง แต่แหม ทานขนมจีนน้ำเงี้ยวน้ำเอาตอนกลางคืนมันกระไรอยู่ ปกติแล้วส่วนใหญ่จะนิยมทานกันมื้อเช้าหรือมื้อกลางวันมากกว่า
ก็พอดีเจ้าของร้านเชิญชวนบอกว่าน้ำเงี้ยวอร่อย ก็เลยตัดสินใจนั่งลงบนเสื่อ เหลียวซ้ายแลขวาไปเจอสาวเจ้าถิ่นเมืองน่าน ที่คงเห็นว่ากลุ่มนี้เป็นคนต่างถิ่นแน่ ก็เลยสำทับเพิ่มเติมอีกว่า ร้านนี้ขนมจีนน้ำเงี้ยวอร่อยแต้ๆ จ้าว....


จึงคิดว่าไม่น่าผิดหวัง แต่พอได้ทานแล้วก็ต้องยอมรับว่าอร่อยจริงๆ และยิ่งอยู่ในบรรยากาศแสงเทียนยามค่ำคืนด้วยแล้ว ยิ่งเพิ่มความอร่อยเข้าไปอีก หากใครมาเที่ยวเมืองน่านก็อยากให้แวะมาทาน ทั้งรสชาติและบรรยากาศง่ายๆสไตล์ภาคเหนือ คงประทับใจนักท่องเที่ยวแน่ๆ ร้านนี้ชื่อว่าร้าน “ ตวงทรัพย์ ” ห่างจากโรงแรมเทวราชประมาณ 200 เมตร
ผมมีเวลาอยู่ที่น่านไม่นานนัก เพียงแค่ 1 วัน กับ 1 คืน แต่จากการพาตัวเองเข้ามาสู่เมืองเล็กๆที่ถือว่าเล็กมากเมื่อเทียบกับจังหวัด เชียงราย ลำปาง หรือเชียงใหม่

แต่เมืองเล็กๆและอยู่ห่างไกล กลับมีเสน่ห์ที่ซ่อนตัวอยู่ ทำให้มีความรู้สึกดีๆกับเมืองน่านอยู่ไม่น้อย หากนักท่องเที่ยวท่านใดอยากจะรับรู้และสำผัสถึงเสน่ห์ของที่นี่ ก็ต้องมาเที่ยว และลองสังเกต ลองใช้ความรู้สึกจับต้อง  ก็อาจพบว่าน่านมีแหล่งท่องเที่ยวทางใจที่ยังใสซื่อบริสุทธิ์รอต้อนรับผู้มาเยือนอย่างมิตรไมตรี


” ซอเมืองน่าน ” มีอีกสิ่งหนึ่งที่เคยรู้มาว่า น่าน มีชื่อเสียงเรื่อง ' ซอ" ซึ่งเป็นศิลปะพื้นบ้านของภาคเหนือ
ผมได้ยินคำร่ำลือมานานว่า ซอเมืองน่านมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วภาคเหนือ หากมีการประกวดประชันที่ไหนเป็นต้องคว้ารางวัลแชมป์มาครองกันอยู่เสมอๆ
ซอ เป็นบทร้องด้วยภาษาท้องถิ่น ที่มักนำไปร้องเนื่องในโอกาสต่างๆ เป็นการร้องประกอบดนตรีพื้นเมืองที่เรียกว่า “ สะล้อซอซึง ” ลักษณะเดียวกับลำตัดของภาคกลาง ซอ ถ้าไปเล่นตามงานรื่นเริงอาจมีคำพูดแบบสองแง่สองง่าม เรียกเสียงฮาไม่แพ้ลำตัดแต่ถ้าไปเล่นในงานบุญก็จะมีบทร้องออกไปในเชิงธรรมะ
เป็นคำสรรเสริญเยินยอวัดสำคัญของท้องถิ่น หรืออาจเป็นคำสรรเสริญในบทพุทธคุณ

วงซอเก่งๆจะมีคำร้องที่มีความไพเราะและมีความหมายลึกซึ้งกินใจ เป็นการร้องแบบสดๆ เช่นเดียวกับการแหล่ของเมืองสุพรรณ บางครั้งคำสอนทางพุทธศาสนาจะถูกนำมาถ่ายทอดด้วยบทร้องที่เป็นภาษาท้องถิ่นและเข้าใจง่าย ช่วยหล่อหลอมจิตใจให้ผู้คนเข้าใจหลักธรรมผ่านศิลปะพื้นบ้าน
เช้าวันที่ 19 เมษายน 2548 ผมได้ยินเสียงซอ ขณะนั่งทานข้าวมันไก่ที่ร้านแห่งหนึ่งใกล้กับศาลเจ้า พอจับใจความได้ว่าเป็นบทสรรเสริญเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่มีความไพเราะมาก เป็นครั้งแรกที่มีความรู้สึกจับใจกับเสียงซอเมืองน่านที่เลื่องชื่อระบือไกล
เสียงนั้นมาจากเครื่องขยายเสียงที่ได้ยินไปไกล ครั้งแรกเข้าใจว่าเป็นเสียงตามสายที่มักได้ยินตามอำเภอหรือหมู่บ้าน ที่ใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ของท้องถิ่น แต่เมื่อออกไปอยู่นอกร้านแล้วคิดว่าเสียงซอน่าจะมาจากที่ใดที่หนึ่ง จึงเดินตามเสียงนั้นไป จนถึงบางอ้อ เพราะอยู่ตรงศาลเจ้าใกล้ๆนี้เอง

วันนั้นเป็นวันเฉลิมฉลองครบรอบการสร้างศาลเจ้าพ่อ จึงตั้งเต้นท์ประชาสัมพันธ์และรับบริจากเจ้าหน้าที่บอกว่า ซีดีชุดนี้เป็นชุดใหม่ยังไม่มีจำหน่าย ก็เป็นอันว่าไม่สามารถหาซื้อเพื่อนำมาเปิดให้ฟังในเวปนี้ได้
บังเอิญไปพบ บทซอ เมืองน่านท่อนหนึ่งในเวปบอร์ด ชาวน่านดอตคอม จึงนำให้ดูเป็นตัวอย่าง การซอ ที่เกี่ยวกับศาสนา
“ สิบนิ้วยกก่ายเกล้ายอสาน ขอยกยอวานยอสานใส่เกล้า
พระพุทธพระธรรมพระสังฆะเจ้า อันนี้เป๋นเค้าพระศาสนา
จะตั้งแต่เก้าแต่เหง้าไขจ๋า อะหังวันตา ก่อนสาวันท์ไหว้
พระรัตนตรัยของเฮาท่านไท้ฯ ”
เรื่องราวเมืองน่านครั้งต่อไป พบกับโรงแรมไม้สัก 3 ชั้น ที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดน่าน และน่าจะเก่าแก่ที่สุดของประเทศ มีอายุเกินกว่า 70 ปี สร้างในสมัยที่ พันเอกพระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี สภาพโรงแรมจะเป็นแบบไหน ห้องพักจะเป็นอย่างไร และคนดังใครบ้างที่เคยมาพัก ก็ติดตามพบกับเรื่องราวเมืองน่านในตอนต่อไป และจากนั้นจะพาไปเที่ยวตลาดสดหรือตลาดนัดของจังหวัดน่าน ออกจากตลาดก็จะไปเที่ยววัดพระธาตุแช่แห้ง วัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดน่าน 4 เรื่อง 4 ชุด ในสารคดีเมืองน่าน ที่จะนำเสนอในตอนต่อๆไป